กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดสัมมนาวิชาการ “ยุทธศาสตร์ชาติในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
และทางเลือกในการใช้โพรไบโอติกเพื่อการผลิตปศุสัตว์อย่างยั่งยืน”
วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาวิชาการ “ยุทธศาสตร์ชาติในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ และทางเลือกในการใช้โพรไบโอติกเพื่อการผลิตปศุสัตว์อย่างยั่งยืน” National strategy to reduce antibiotics use and practical approaches to use of probiotics for sustainable livestock production โดยมีนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ในเวลา 9.00 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ภายในการสัมมนายุทธศาสตร์ชาติในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ฯ ครั้งนี้มีการบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน เพื่อให้ทราบถึงทิศทางและนโยบายในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพ สร้างการตระหนักรู้ ในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล และนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกสำหรับสัตว์ เพื่อช่วยเสริมสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง สนับสนุนการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย อันเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance) จัดเป็นหนึ่งในโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging Infection Disease) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญด้านการสาธารณสุขในระดับนานาชาติ และเป็นปัญหามีความเกี่ยวเนื่องกันทั้ง คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพโดยขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประสานการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภายใต้กรอบแนบคิด สุขภาพหนึ่งเดียว “One Health Approach” กรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการกำกับดูแลให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น ออกกฎหมายยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิด ในวัตถุประสงค์เพื่อการเร่งการเจริญเติบโต (Growth Promoter) และกฎหมายว่าด้วยอาหารสัตว์ที่ผสมยา ( Medicated Feed ) ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะจะต้องมีการสั่งใช้ยาโดย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม เป็นต้น รวมทั้งมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จนถึงมีการลงนามในโครงการพิเศษ “การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ” (Raised Without Antibiotics; RWA) ร่วมกับการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารทางเลือก เช่น สมุนไพร และโพรไบโอติกส์ ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้การผลิตปศุสัตว์มีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต
https://afvc.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu/administrator-dld/783-2019-03-22-05-27-30#sigFreeIdaaf0c720ce