กรมปศุสัตว์ห่วงใยผู้บริโภค Kick Off ทั่วประเทศ ย้ำตรุษจีนปีนี้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ ที่มีตรา “ปศุสัตว์ OK”
มั่นใจมาตรฐานการผลิตที่สะอาด ปลอดสารตกค้าง ไร้โควิด และตรวจสอบย้อนกลับได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์มีความห่วงใยประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่ออกมาเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อเตรียมจัดพิธีไหว้ขอพรเทพเจ้าและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในวันปีใหม่ของจีน โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตของกรมปศุสัตว์ รวมถึงการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารตกค้างต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์นั้น มีคุณภาพและปลอดภัย นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ทั้งระบบ โดยมุ่งหวังให้ตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ช่วยสร้างความมั่นใจในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีสินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในขอบข่ายการรับรองทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ Modern trade และตลาดสด เข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมดกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2565 จำนวนทั้งหมด 7,606 แห่ง (เนื้อสัตว์ 4,729 แห่ง ไข่ 2,877 แห่ง) เนื้อไก่ 221 แห่ง เนื้อหมู 1,176 แห่ง เนื้อเป็ด 3 แห่ง เนื้อโค 33 แห่ง เนื้อสัตว์มากกว่า 2 ชนิด (เนื้อหมู เนื้อไก่ และอื่นๆ ส่วนมากเนื้อหมูและเนื้อไก่) 3,296 แห่ง ไข่ไก่ 2,503 แห่งไข่เป็ด 221 แห่ง และไข่นกกระทา 153 แห่ง) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสถานที่จำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการได้ทั้งประเทศ สำหรับปี 2565 นี้ ได้มีการ Kick Off พร้อมกันทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเขต 1- 9 กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกันพัฒนาและผลักดันมาตรฐานปศุสัตว์ OK มาตั้งแต่ปี 2559 โดยสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองโครงการปศุสัตว์ OK จะต้องจำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ที่มีความปลอดภัยต่อการบริโภค มาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GAP โรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย มีการเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพสัตว์ก่อนฆ่า (Ante-mortem inspection) และหลังฆ่า (Post-mortem inspection) ไม่ให้มีสัตว์ป่วยหรือโรคระบาดอื่นๆ เช่น โรค ASF ในสุกร เข้าผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญอีกจุดหนึ่งด้วย สถานที่รวบรวมไข่จนถึงสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ถูกสุขอนามัยได้มาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการและแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ โดยโรงงานต้องมีการตรวจสอบคัดกรองและควบคุมการเข้าออกของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่สัมผัสกับเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันและปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยส่วนบุคคล รวมทั้งรักษาระยะห่างทางสังคม เข้มงวดในการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ การทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหาร เช่น ที่คีบอาหาร มีด เขียง ทุกครั้งหลังใช้งาน การจัดเตรียมเจลล้างมือสำหรับลูกค้าที่มาเลือกซื้อสินค้า รวมถึงผู้จำหน่ายสินค้าต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะส่วนบุคคล นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการสุ่ม
เก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID-19 ในเนื้อสัตว์มาอย่างต่อเนื่อง จำนวนกว่า 1,000 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจทั้งหมดยังตรวจไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส COVID-19
กรมปศุสัตว์ขอให้ประชาชนผู้บริโภคมั่นใจว่า สินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองนั้น มีมาตรฐานการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย เหมาะสมแก่การบริโภค ปลอดจากสารตกค้าง ไม่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 และที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ มั่นใจซื้อสินค้าปศุสัตว์ ให้สังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
View the embedded image gallery online at:
https://afvc.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu/administrator-dld/1144-kick-off-ok#sigFreeIdda6bc3faf3